ซีรี่ย์จีน กระบี่เย้ยยุทธจักร (The Smiling, Proud Wanderer) ดัดแปลงมาจากนวนิยายกำลังภายในเรื่อง “เซี่ยวอ้าวเจียงหู” (The Smiling, Proud Wanderer) ซึ่งเป็นหนึ่งในสุดยอดผลงานของ “กิมย้ง” ถูกนำมาเผยแพร่เป็นครั้งแรกบนหน้าหนังสือพิมพ์ “หมิงเป้า” (ของกิมย้งเอง) ในฮ่องกง ระหว่างวันที่ 20 เมษายน 2510 – 12 ตุลาคม 2512 แปลเป็นภาษาไทยโดย “น.นพรัตน์” เดิมใช้ชื่อเรื่อง “ผู้กล้าหาญคะนอง” ภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อ “เดชคัมภีร์เทวดา” (ตามชื่อภาพยนตร์ฮ่องกง) ก่อนเปลี่ยนชื่อนิยายเป็น “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ในที่สุด
“กระบี่เย้ยยุทธจักร” เป็นนิยายกำลังภายในเรื่องเดียวของกิมย้งที่ไม่อ้างถึงประวัติศาสตร์ในยุคใด แต่เป็นการเขียนเพื่อเสียดสีการเมืองในยุคนั้น (เป็นช่วงที่ประเทศจีนเกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และมีการต่อสู้ภายในเพื่อแย่งชิงอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์) เนื้อหากล่าวถึงเรื่องราวความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งในยุทธจักรระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม แต่ทว่าฝ่ายธรรมะใช่จะมีแต่คนดีจึงเกิดมีวิญญูชนจอมปลอมที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้เป็นใหญ่ เช่นเดียวกับฝ่ายอธรรมที่ไม่ได้มีแต่คนชั่วช้าเสมอไป ทำให้เกิดความสับสนว่าใครเป็นฝ่ายธรรมะและอธรรมกันแน่
เนื้อหาในละครเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์เมื่อ 18 ปีก่อน… ในตอนนั้นสิบผู้อาวุโสแห่งพรรคตะวันจันทรา ได้บุกขึ้นไปบนยอดเขาหัวซาน จึงเกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างอาวุโสพรรคมารกับยอดฝีมือฝ่ายธรรมะ ด้วยความที่สิบผู้อาวุโสมีฝีมือสูงส่งกว่า ยอดฝีมือฝ่ายธรรมะจึงบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ฝ่ายธรรมะเห็นท่าไม่ดีเลยจำต้องใช้กลลวงเพื่อล่อให้สิบผู้อาวุโสเข้าไปติดกับภายในถ้ำ ก่อนขังลืมไว้ในนั้นจนเสียชีวิตทั้งหมด (ก่อนตายเหล่าผู้อาวุโสได้คิดค้นเคล็ดวิชาใหม่ที่สามารถปราบเพลงกระบี่ของห้าสำนัก จึงจารึกกระบวนท่าต่างๆ ลงบนผนังถ้ำ ซึ่งภายหลัง “ลิ่งหูชง” (หรือ “เล่งฮู้ชง” ในสำเนียงแต้จิ๋ว) ได้มาเห็นเข้าโดยบังเอิญ)
แปดปีต่อมา สำนักซงซาน, หัวซาน, เหิงซาน (恒山- เป็นสำนักแม่ชี), ไท่ซาน และ เหิงซาน (衡山) ซึ่งจับมือกันเป็นสมาพันธ์สำนักกระบี่เรียกว่า “ห้าขุนเขากระบี่” พร้อมเหล่ายอดฝีมือจากสำนักกระบี่ฝ่ายธรรมะได้พากันบุกผาไม้ดำเพื่อกวาดล้างพรรคตะวันจันทรา หลังเหตุการณ์ในครั้งนั้น ห้าขุนเขากระบี่ สำนักเส้าหลิน และบู๊ตึ๊ง จึงได้ชื่อว่าเป็นสามเสาหลักของยุทธภพ ขณะเดียวกันก็เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็น 3 ขั้วอำนาจใหญ่
* ห้าสำนักกระบี่ดังกล่าวตั้งชื่อตามสถานที่ตั้ง (ซาน แปลว่า ภูเขา) โดยเขาซงซาน (ภูกลาง) อยู่ในมณฑลเหอหนาน, เขาหัวซาน (ภูตะวันตก) อยู่ในมณฑลซานซี, เขาเหิงซาน (恒山) หรือ ภูเหนือ อยู่ในมณฑลซานซี, เขาไท่ซาน (ภูตะวันออก) อยู่ในมณฑลซานตง และเขาเหิงซาน (衡山) หรือ ภูใต้ อยู่ในมณฑลหูหนาน